ต้นกำเนิดโอ่งมังกร


ต้นกำเนิดโอ่งมังกร




       จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ในเมืองราชบุรี เล่าว่า สมัยก่อนนั้น โอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผา แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็เป็นไปอย่างยากลำบากรวมถึงโอ่งด้วย จึงจำเป็นต้องผลิตใช้กันเองภายในประเทศ

            โดยจุดเริ่มต้นของการทำโอ่งขายในจังหวัดราชบุรี มาจากสองสหายชาวจีน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศ จนได้มาพบแหล่งดินที่ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินดีสีแดงสามารถใช้ปั้นโอ่งได้ จึงลงทุนร่วมหุ้นกัน 3,000 บาท ก่อตั้งโรงงานทำโอ่งขนาดเล็กในปี พ.ศ.2476  ตั้งอยู่บริเวณสนามบิน ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรี 
            ในช่วงแรก ๆ จะเน้นทำอ่าง ไห กระปุกต่าง ๆ มากกว่าโอ่ง เมื่อกิจการรุ่งเรือง โรงงานจึงขยายตัวและมีการผลิตโอ่งมากขึ้น หุ้นส่วนหลายคนเริ่มแยกตัวออกไปตั้งโรงงานเอง แต่ก็ยังอยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี ทำให้มีโรงงานทำโอ่งกระจายอยู่หลายแห่ง




  ลวดลาย โอ่งมังกร

            การทำโอ่งในยุคแรก ๆ จะเป็นโอ่งไม่มีลวดลาย เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" แต่ต่อมามีการวาดลวดลายโดยใช้ดินขาวจากเมืองจีน และภายหลังสามารถหาดินขาวทดแทนได้ที่จังหวัดจันทบุรี และสุราษฎร์ธานี สำหรับลวดลายที่วาดบนตัวโอ่งมักจะเป็นลายมังกร  เนื่องจากตามความเชื่อของคนจีน มังกร ถือเป็นสัตว์ชั้นสูง และเป็นมงคล

            อีกทั้งคนไทยก็มีความเชื่อเรื่อง พญานาค ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับมังกร และมีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึงมังกรในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำด้วย เรียกว่า มังกรพยุหะ จึงมีการเขียนรูปมังกรคล้ายพญานาคบนตัวโอ่งออกจำหน่าย และได้รับความนิยมจนกลายเป็นสัญลักษณ์ "โอ่งมังกร"

            ทั้งนี้ ลวดลายของโอ่งมังกร มีหลายแบบ โดยทั่วไปมังกรจะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ แต่ถ้าเป็นมังกรสัญลักษณ์ชั้นสูงของกษัตริย์หรือฮ่องเต้จะมี 5 เล็บ ซึ่งตามความเชื่อของจีนนั้น แบ่ง มังกร ออกเป็น 3 ชนิด คือ...
           1. หลง เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด อยู่บนฟ้า

           2. หลี เป็นพวกไม่มีเขา ชอบอยู่ในมหาสมุรทร

           3. เจียว
เป็นพวกมีเกล็ด อยู่ตามแม่น้ำ คลอง หรือถ้ำ



 นอกจากนี้ จีน ยังจัดให้ มังกร มีระดับและหน้าที่แตกต่างกันไป คือ...

            1. มังกรฟ้า หรือมังกรสวรรค์ (เทียนหลง)  เป็นมังกรชั้นสูง มีหน้าที่คุ้มครองดูแลสวรรค์

            2. มังกรเทพเจ้า หรือมังกรจิตวิญญาณ (เซินหลง) มีหน้าที่ทำให้เกิด ลม ฝน แก่มวลมนุษย์

            3. มังกรพิภพ (ตี้หลง) มีหน้าที่กำหนดเส้นทาง ดูแลแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลองบึง

            4. มังกรเฝ้าทรัพย์ (ฝู ซาง หลง) มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดิน

            ปัจจุบัน แม้การขายโอ่งมังกรของราชบุรี จะเปลี่ยนจากการเร่ขายทางเรือ มาใช้รถเร่ขายแทน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ความเจริญของวัตถุนิยมที่แทรกซึมเกือบทุกหย่อมหญ้า การใช้โอ่งดินแบบเดิม ๆ อาจไม่สอดคล้องกับความสะดวกของคนยุคใหม่ ทำให้น่าเป็นห่วงว่า สัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิของคนราชบุรี จะยังคงดำเนินสืบไปอีกสักกี่รุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น