กรรมวิธีในการปั้นโอ่งมังกร


กรรมวิธีการปั้นโอ่ง



        โอ่ง มังกรของจังหวัดราชบุรี มีวิธีการปั้นเหมือนกับโอ่งของจังหวัดอื่น ๆ จะต่างกันด้านการเคลือบโอ่งและการเขียนลายมังกรซึ่งมีขั้นตอนในการปั้นอยู่ 6 ขั้นตอน คือ การเตรียมดิน การขึ้นรูป การเขียนลายบนโอ่ง การเคลือบโอ่ง และการเผาโอ่ง ซึ่งมีลายละเอียดดังนี้
         ดินที่ใช้ปั้นโอ่งจะต้องเป็นดินเหนียว แต่ต้องนำมาหมักไว้ในบ่อดินสองหรือสามวันเพื่อให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกันทั้ง ก้อน เมื่อเอาดินเหนียวขึ้นมาจากบ่อหมักแล้วก็นำเอาดินเข้าเครื่องนวดใส่ทราย ละเอียดลงไปผสมตามอัตราส่วน ดินเหนียวสองส่วนทรายหนึ่งส่วน      
         เมื่อใส่ส่วนผสมเรียบร้อยแล้วก็นวดให้ดินเป็นเนื้อเดียวกัน ดินที่ได้จากการนวดนั้นจะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ดินนวดแล้วจะกองเป็นดินกองใหญ่ เวลาจะนำไปปั้นโอ่งต้องใช้เครื่องมือตัดแบ่งดินออกจากดินกองใหญ่ เครื่องมือตัดดินนี้ช่างปั้นเรียกว่า เหล็กตัด


การเตรียมดิน 


    
      เนื้อดินสีน้ำตาลแดงที่ได้จากท้องนาทั่วไปในจังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อดินเหนียวที่มีคุณภาพดีเยี่ยม  มีความละเอียดเหนียวเกาะตัวกันได้ดีนำมาหมักไว้ในบ่อดิน  แช่น้ำทิ้งไว้  ๑  สัปดาห์เพื่อให้น้ำซึมเข้าในเนื้อดินให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกันและเป็นการทำความสะอาดดินไปในตัวด้วย  หลังจากนั้นตักดินขึ้นมากองไว้  แทงหรือตักดินด้วยเหล็กลวดให้เป็นก้อน  นำเข้าเครื่องโม่หรือเครื่องนวดเพื่อให้เนื้อดินเข้ากัน  แล้วใช้เหล็กลวดหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ลวดตัวเก็ง  ตักดินที่โม่แล้วให้เป็นก้อนมีขนาดเหมาะพบกับการปั้นงานแต่ละชิ้นนำมานวด  โดยผสมทรายละเอียดเล็กน้อยอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้โอ่งมังกรมีเนื้อที่แกร่งและคงทนยิ่งขึ้น


การขึ้นรูป








ในการปั้นโอ่งนั้นจะใช้คนปั้นถึง ๓ คน และแบ่งการปั้นเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนฐาน
ส่วนท้อง และส่วนปากโอ่งแล้วส่งไปแผนกทุบตกแต่งโอ่ง ดังนี้ 
๑. การปั้นส่วนฐานของโอ่งเรียกว่า ปั้นขา เมื่อปั้นฐานโอ่งเสร็จก็จะทิ้งไว้ให้แห้งแล้วค่อยปั้นส่วนที่ ๒
๒. การปั้นส่วนท้องโอ่ง เรียกว่า จ้อปั้น 
๓. การปั้นปากโอ่ง เรียกว่า ต้นโอ่ง เมื่อปั้นปากโอ่งเสร็จก็ต้องรูดปากโอ่งโดย ใช้ผ้าจับรูดตามปากโอ่ง แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง พออยู่ตัวไม่ต้องแข็งมาก



การทุบโอ่ง




   การทุบโอ่ง เมื่อช่างปั้นโอ่งทั้ง ๓ ส่วนเสร็จเป็นรูปร่างแล้วก็ส่งต่อไปให้  แผนกช่างทุบตบแต่งโอ่ง เพื่อให้โอ่งนั้นเรียบ และได้รูปทรงที่ดีและสวยงามเครื่องมือที่ใช้ ๒ ชนิด คือ ฮวยหลุบ และไม้ตีด้านนอกโอ่ง


การเขียนลายบนโอ่ง

ช่างเขียนลายจะใช้ดินสีนวลผสมกับดินขาวแล้วปาดดินด้วยมือให้เป็นลวดลายต่าง ๆ

     การเขียนลายโอ่งไม่เหมือนกับการใช้สีเขียนรูปบนกระดาษวัสดุที่เขียวลายบนโอ่ง เป็นดินเหนียวผสมดินขาว เนื้อดินต้องร่อนให้ละเอียด เมื่อนำดินทั้งสองชนิดมาผสมแล้วนวดให้เนื้อดินนิ่ม เรียกว่า ดินติดดอกโอ่งเมื่อแต่งผิวเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาวางบนแป้นหมุน ช่วงติดลายจะใช้ดินติดดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ ป้ายติดไปที่โอ่งสามตอน เพื่อเป็นการแบ่งโอ่งออกเป็นสามช่วง คือ ช่วงปากโอ่ง ตัวโอ่งและเชิงล่างของโอ่งแต่ละช่วงจะติดลายไม่เหมือนกัน 

ช่วงปากโอ่ง นิยมติดลายดอกไม้หรือลายเครือเถา เพื่อความสะดวกรวดเร็วและความเรียบร้อยสวยงาม การติดลายช่วงนี้ ก็จะมีแบบฉลุบนแผ่นพลาสติกใสเป็นลายที่ต้องการเอาไว้ เวลาติดลาย ก็นำแบบฉลุวางทาบลงบนผิวโอ่ง แล้วนำดินติดตอกกดปากลงบนแบบฉลุ เมื่อยกแบบออก ดินติดดอกก็จะติดดอกลงไปบนโอ่งเป็นลวดลายตามแบบ  


ช่วงตัวโอ่ง นิยม เขียนเป็นรูปมังกรช่วงติดลายจะติดดินเป็นลายมังกรขึ้นจากความชำนาญไม่ต้อง ร่างเป็นรูปก่อน การติดลายมังกรถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากเพราะโอ่งจะสวยสะดุดตามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับลายนี้ 

ช่วงติดเชิงด้านล่างโอ่ง ช่างจะติดวิธีเดียวกับช่วงปากโอ่ง และลายช่วงนี้จะเป็นแบบง่าย ๆ 




การเคลือบโอ่ง


      

      หลังจากเขียนลายบนโอ่งเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป คือการเคลือบโอ่งซึ่งจะมีวิธีการเคลือบพร้อมทั้งประโยชน์ที่ได้รับจากการเคลือบโอ่งดังปรีดา ปัญญาจันทร์ได้อธิบายไว้ดังนี้ เมื่อติดลายบนตัวโอ่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำโอ่งมาเคลือบน้ำที่ใช้เคลือบ คือ น้ำโคลน ผสมกับ ขี้เถ้า จะใช้เถ้าอะไรก็ได้ในโรงงานเผาโอ่งทั่วไปจะใช้เถ้าจากการเผาโอ่งนั่นเองแต่จะให้ลวดลายบนโอ่งนั้น ดูสีสวยนั้นควรใช้เถ้าจากกระดูกสัตว์จะสวยกว่าขี้เถ้าจากพืช เถ้าที่นำมาผสมกับน้ำโคลนจะต้องร่อนให้ละเอียดเสียก่อน น้ำเคลือบที่ดี น้ำโคลนและเถ้าจะต้องละเอียดที่สุดในการเคลือบโอ่ง จะนำโอ่งวางหงายในกระทะใบบัวใช้น้ำเคลือบราดให้ทั่วด้านในโอ่งก่อน จากนั้นจึงช่วยกันยกโอ่ง คว่ำลงไปในกระทะนั้น ตักน้ำเคลือบ
ราดรดผิวนอกจนทั่วจึงช่วยกันยกโอ่งขึ้นวางหงายผึ่งลมไว้น้ำเคลือบที่เหลืออยู่ในกระทะใบบัวก็ตักเทใส่รวมกับน้ำเคลือบที่เตรียมไว้นำโอ่งใบใหม่มาวางบนกระทะอีกแล้วก็ทำการเคลือบตามวิธีที่กล่าวมานี้โอ่งที่เคลือบน้ำเคลือบแล้ว นอกจากจะให้เกิดสีสวย เป็นมันเมื่อเผาเสร็จออกมาเป็นโอ่ง น้ำเคลือบยังช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำน้ำก็จะไม่ซึมออกมานอกโอ่ง 




การเผาโอ่ง


     การเผาโอ่งนับเป็นกรรมวิธีขั้น สุดท้ายของการทำโอ่งเป็นเตาขนาดใหญ่ เรียกว่าเตาอุโมงค์เตาอุโมงค์จะก่อด้วยอิฐเป็นรูปยาวด้านข้างเตาด้านหนึ่งจะ เจาะช่องประตูเพื่อให้เป็นทางน้ำโอ่งหรือภาชนะดินอื่น ๆ เข้าไปเผาและเป็นทางขนโอ่งหรือภาชนะดินที่เผา เสร็จแล้ว ออกจากเตาส่วนด้านข้างเตาอีกด้านหนึ่งจะก่ออิฐเรียบไปตลอดด้านบนของเตาจะ เจาะรูไว้เป็นระยะ ๆ เพื่อใช้ใส่ฟืนเป็นเชื้อในการเผา รูที่เจาะไว้นี้เรียกว่า ตา จะมีตาอยู่รอบเตาทั้งสองด้านเตาอุโมงค์หนึ่ง ๆ จะมีช่องประตูและตามากน้อย แค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของเตา เช่น ตามี ๔ ช่องประตู ก็จะต้องทำตาไว้รอบเตามีทั้งหมด ๗๐ ตา ปลายด้านหนึ่งของปลายอุโมงค์ จะใช้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นก้นเตา ใช้เป็นปล่องสำหรับระบายควันออกจากเตา เมื่อจะเผาโอ่งหรือภาชนะดินอื่น ๆ นั้นจะต้องเปิดประตูเตานำโอ่งและภาชนะที่จะเผาเข้าไปเรียงในเตาจนเต็ม จากนั้นก็ปิดประตูด้วยอิฐชนิดเดียว กับที่ใช้ก่อเตาใส่เชื้อไฟตามตาที่อยู่รอบ ๆ เตาจนเต็มที่แล้วจึงจะก่อไปที่ปากเตาไปสู่ก้นเตาซึ่งเย็นกว่าอากาศร้อนก็จะ ลอยออกไปทางก้นเตาจึงทำให้เกิด แรงดูดขึ้นภายในเตา ความร้อนจากปากเตา ก็จะวิ่งเข้ามาในเตาพอพบกับเชื้อที่ใส่เอาไว้ ก็เกิดการลุกไหม้ทั่วทั้งเตา ปล่อยให้เกิดการลุกไหม้ทั่วทั้งเตาติดติดกันนานถึง ๒ วันพอวันที่สามไปไม่ต้องเติมเชื้อไฟอีก ไฟก็จะมอด ปล่อยทิ้งไว้ ๑๐ ถึง ๑๒ ชั่วโมง ความร้อนในเตาก็เกือบจะหมดตอนนี้จึงเปิดช่อง ประตูเตานำโอ่งและภาชนะที่เผาออกมา คัดแยกชนิดที่สมบูรณ์ทุกอย่างก็นำไปจำหน่ายส่วนที่ชำรุดซึ่งเป็นส่วนน้อยก็ ต้องนำไปทุบทำลายใช้ถมที่ต่อไปโอ่งลายมังกรของจังหวัดราชบุรีนั้นจะมีผู้ทำออกจำหน่ายทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อในจังหวัดราชบุรีนั้นก็คือ การปั้นโอ่งซึ่งส่วนใหญ่ลายที่ใช้เขียนลงบนโอ่งนั้นจะเป็นลายมังกร ฉะนั้นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงงานปั้นโอ่งจนมีชื่อเสียงนั้นควรจะเป็นคนจีน การปั้นโอ่งนั้นจะมีขึ้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควรซึ่งที่กล่าวมานั้นมีทั้งหมด ๕ ขั้นตอนด้วยกัน คือการเตรียมดิน การขึ้นรูป การเขียนลาย การเคลือบ การเผา

 

2 ความคิดเห็น: